กฏหมายครอบครัว



ครอบครัวเป็นสถาบันขั้นพื้นฐานและเป็นสถาบันหลักของสังคม ครอบครัวจึงประกอบไปด้วย สามี ภรรยา บุตรและญาติ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ดังนั้น หลักกฏหมายที่ใช้โดยทั่วไปอาจนำมาใช้กับกฏหมายครอบครัวไม่ได้ กฏหมายครอบครัวจึงเป็นกฏหมายที่อ้างอิงหลักศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุด เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้น การสมรส การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีและภรรยา การปกครองบุตร ทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา ตลอดถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมรดก เป็นต้น


การหมั้น
ก่อนทำการสมรสมักจะมีพิธีหมั้นก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า การสมรสจะต้องมีการหมั้นเสมอไปทุกครั้ง การหมั้นจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ที่กฏหมายบัญญัติเกี่ยวกับการหมั้นเอาไว้ด้วยนั้นก็เพื่อรักษาและส่งเสริมประเพณีของไทย
ดังนั้นการหมั้นจึงเป็นเรื่องการทำสัญญาระหว่างฝ่ายชายและหญิงเพื่อตกลงว่าจะสมรสกันแต่เป็นสัญญาที่แตกต่างจากสัญญาโดยทั่วไป คือเมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นโดยฝ่ายหนึ่งไม่ยอมสมรสด้วย อีกฝ่ายหนึ่งจะถือเป็นเหตุไปฟ้องร้องต่อศาลบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาต้องทำการสมรสด้วยไม่ได้ จะทำได้ก็แต่เพียงให้ฝ่ายที่ผิดสัญญารับผิดใช้ค่าทดแทนเท่านั้น
ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการหมั้นโดยสรุปได้ดังนี้
ชายและหญิงจะทำการหมั้นได้ต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีอายุต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ สัญญาหมั้นนั้นใช้ไม่ได้
ถ้าชายและหญิง เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ คืออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สามารถทำการหมั้นได้ด้วยตนเอง ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องได้รับคำยินยอมจากบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองของชายและหญิงด้วย
ในการหมั้นฝ่ายชายจะต้องให้ทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง หรือแหวนเพชรแก่ฝ่ายหญิง ซึ่งทรัพย์สินนี้เรียกว่า ของหมั้น มิฉะนั้นจะถือว่าการหมั้นนี้ไม่ถูกต้อง และนอกจากนี้ฝ่ายชายยังอาจให้ทรัพย์สินแก่พ่อแม่ของหญิงคู่หมั้น โดยถือว่าทรัพย์สินนี้เป็นสินสอด หากต่อมาภายหลังฝ่ายหญิง คู่หมั้นไม่ยอมสมรสกับชายคู่หมั้นก็จะต้องคืนสินสอดและของหมั้นให้กับฝ่ายชายคู่หมั้นด้วย

การสมรส
การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกล จริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดีจะทำการ สมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิตโดยไม่ คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ไม่ได้
หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อย กว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
(1) ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
(2) ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่าย และลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม
(3) ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้
การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วย กัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตาม กฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้

หลักฐานที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส
1.คู่สมรสทั้งสองที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่ายไปแสดง
2. ถ้าคู่สมรสมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นอกจากต้องใช้หลักฐานในข้อ 1 แล้ว ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือหนังสือยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ซึ่งมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนเซ็นรับรองไปแสดง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
การให้คำยินยอมในการสมรส
สำหรับคู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อและแม่ของทั้งสองฝ่ายจึงจะทำการสมรสกันได้ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดวิธีการไว้ชัดเจน ซึ่งดำเนินการได้ดังนี้
1.ลงลายมือชื่อในทะเบียน ขณะจดทะเบียนสมรส หรือ
2.ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอม โดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้คำยินยอมในหนังสือนั้นหรือ
3.ถ้ามีความจำเป็นจะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้ การยินยอมนั้นเมื่อได้แล้วไม่สามารถถอนได้
การสมรสที่ดำเนินการตามเงื่อนไขและขั้นตอนตามที่กฏหมายกำหนดแล้ว ต่อมาภายหลังทราบว่า การสมรสนั้นขัดต่อเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนด เช่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้วมาจดทะเบียนซ้ำ การสมรสครั้งหลังนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายอยู่จนกว่าฝ่ายที่เสียหายจะฟ้องร้องต่อศาลให้พิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้น บุคคลอื่นไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนการสมรสได้ แม้นายทะเบียนผู้รับจดทะเบียนนั้นเอง
ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนสมรสนั้น นอกเหนือจากหญิงและชายจะเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องกันตามกฎหมายแล้ว บุตรที่เกิดมาก็เป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย คู่สมรสได้รับการยกย่องในสังคม ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ หากเป็นข้าราชการจะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือบุตร ค่าเล่าเรียนและค่ารักษาพยาบาล

การจดทะเบียนรับรองบุตร
ในระหว่างการสมรส สามีภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายและมีบุตรด้วยกันถือว่า บุตรผู้นั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของบิดา แต่หากไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันถือว่าบุตรที่เกิดนั้นเป็นบุตรนอกสมรส หรือหากบิดาไม่ปรากฏ บุตรนั้นมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของมารดา ซึ่งโดยกฎหมายจะถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฏหมายของมารดาเสมอ
บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฏหมายของบิดาได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามที่กฏหมายกำหนดไว้ดังนี้
เมื่อบิดามารดาจดทะเบียนกันภายหลัง
บิดาได้ให้การจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร
เมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
ในการจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น บิดามารดาและบุตรจะต้องไปที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือสำนักงาน ถ้ามารดาและบุตรไม่ได้ไปด้วย นายทะเบียนผู้รับจดจะแจ้งไปยังฝ่ายที่ไม่มา เพื่อให้มาให้ความยินยอมหรือคัดค้านการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าพ้น 60 วัน นับแต่วันแจ้งความของนายทะเบียนไปถึงถือว่าไม่มีการคัดค้าน นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ ถ้ามารดาและบุตรอยู่ต่างประเทศก็จะขยายเวลาไปเป็น 180 วัน เมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว บุตรนั้นย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา นับแต่วันที่จดทะเบียนนั้นไป

มรดกและการทำพินัยกรรม
มรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ เช่นสิทธิตามสัญญาซื้อขาย สิทธิในการไถ่ถอนการขายฝาก เป็นต้น เมื่อบุคคลได้ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินทุกอย่าง รวมทั้งที่มีในขณะนั้นถือว่าเป็นมรดกของบุคคลนั้นที่จะตกทอดไปยังลูกหลานหรือญาติสนิทที่เป็นทายาท เว้นแต่สิทธิบางอย่างซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัว ถือว่าสิทธินั้นเป็นอันสิ้นไปเมื่อบุคคลนั้นได้ตายไป ไม่ถือว่าเป็นมรดก
ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม
ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม คือ ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
ทายาทโดยธรรม หรือเรียกว่าทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ที่มีความผูกพันกับผู้ตายโดยความเป็นญาติหรือคู่สมรสหรือเป็นบุตร ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ 6 ลำดับ ได้แก่
ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตร บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
บิดามารดา
พี่น้องร่วมบิดามารดา
พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือมารดา
ปู่ ย่า ตา ยาย
ลุง ป้า น้า อา
ผู้รับพินัยกรรม หมายถึง ผู้ที่มีชื่อปรากฎในพินัยกรรมที่เจ้าของมรดกมีเจตนายกทรัพย์ให้ ในกรณีที่ผู้ตายประสงค์ที่จะให้ญาติของตนแต่ละคนได้รับมรดกในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน หรือต้องการให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติมามีส่วนรับมรดกของตน หรือไม่ต้องการให้ญาติของตนคนใดมารับมรดกของตัวเอง ทำได้โดยการทำพินัยกรรมระบุไว้ว่าจะยกทรัพย์สินใดให้แก่ใครบ้าง เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนี้ เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นวัด มูลนิธิ หรือโรงพยาบาลก็ได้

การทำพินัยกรรม
ในการทำพินัยกรรม จะต้องเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือพินัยกรรม ซึ่งมีแบบพิธีในการทำ 3 แบบดังนี้
พินัยกรรมธรรมดา เป็นหนังสือพินัยกรรมที่ลง วัน เดือน ปี ทีทำมีพยานรับรอง 2 คน และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงชื่อไว้ด้วย ถ้าลงเขียนหนังสือไม่ได้ให้ประทับตราหัวแม่มือขวาลงในพินัยกรรมแทนการลงชื่อ
พินัยกรรมเขียนเอง ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตัวเองทั้งฉบับ แล้วลงชื่อ และวันเดือนปี ที่ทำพินัยกรรมด้วย
พินัยกรรมทำที่อำเภอ ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปหานายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตให้ทำพินัยกรรมให้ และต้องลงชื่อไว้ในพินัยกรรมนั้นด้วยพร้อมพยานอีก 2 คน
ในการพินัยกรรมไม่ว่าจะเป็นแบบใดนั้น ผู้ทำพินัยกรรมจะสามารถยกเลิกเมื่อใดก็ได้ และพินัยกรรมจะมีผลใช้บังคับก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายไปแล้วเท่านั้น